Monday, February 11, 2008

ทำไมถึงเรียกต่างกัน นิสิต กับ นักศึกษา

ว่าด้วยข้อถกเถียง นิสิต นักศึกษา
บ่อยครั้งที่กระทู้ในโต๊ะห้องสมุดจะมีข้อถกเถียงเรื่องที่มาของคำว่า “นิสิต” และ “นักศึกษา” โดยมากมักตั้งคำถามกันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร สถาบันใดที่ใช้คำว่านิสิตบ้าง เป็นต้น
ก่อนจะตอบคำถามเหล่านั้นก็ควรจะมาดูก่อนว่าคำว่า “นิสิต” หมายถึงอะไร และสถาบันใดบ้างที่ใช้คำว่า “นิสิต”
คำว่า “นิสิต” นั้นเป็นภาษาบาลี แปลว่า “ผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์” เนื่องจากแต่เดิมสถาบันการศึกษาระดับสูงมักมีหอพักให้ผู้เรียนได้พักอาศัยภายในสถาบัน ประกอบกับความนิยมภาษาบาลีด้วยจึงได้ใช้คำนี้โดยทั่วไป
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มแรกเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ ได้สถาปนาขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” และปรากฏใช้คำว่า “นิสิต” สำหรับนิสิตชาย และ “นิสิตา” สำหรับนิสิตหญิง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “นิสิต” เพียงคำเดียว
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ก่อตั้งขึ้นโดยที่ค่านิยมภาษาบาลีสันสกฤตยังเป็นที่นิยมและมีหอพักให้ผู้เรียนภายในสถาบันเช่นเดียวกัน จึงใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่แรกเริ่ม
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย เริ่มต้นจากการเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร” ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยวิชาการศึกษา” นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่สามารถเปิดสอนวิชาชีพครูได้ถึงระดับปริญญา (ก่อนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) โดยมีทั้งสิ้น ๘ แห่งทั่วประเทศ และทุกแห่งก็ใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนกันหมด
ภายหลังวิทยาลัยวิชาการศึกษาทั้ง ๘ แห่ง ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) และปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (คงสถานะเดิม)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัย มหาสารคาม)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยทักษิณ)
จนปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแต่ละแห่งได้มีการเปลี่ยนไปด้วยประการต่าง ๆ แต่ก็ยังคงใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนกันหมด
ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัย (๗ มหาวิทยาลัย) ใช้คำว่า “นิสิต” ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ มีหอพักให้ผู้เรียนอยู่ภายในสถาบัน
ในสมัยที่ประชาธิปไตยพยายามจะเบ่งบาน มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ธรรมศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยกฎหมาย) เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีหอพักให้ผู้เรียน จึงสร้างคำใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็น “ไทย ๆ” มากขึ้น จึงใช้คำว่า “นักศึกษา”
มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นภายหลังหลาย ๆ แห่ง แม้จะมีหอพักนักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่นิยมใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนมหาวิทยาลัย “โบราณ” ที่ก่อตั้งมานานแล้วทั้งหลาย จึงหันไปใช้คำว่า “นักศึกษา” เหมือนกันแทบทุกแห่ง แม้แต่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง แต่เดิมก็ใช้คำว่า “นิสิต” แต่ภายหลังอธิการบดีท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายแพทย์ ก็ได้เปลี่ยนคำว่า “นิสิต” มาเป็นคำว่า “นักศึกษา” ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองก็นับเป็นมหาวิทยาลัยที่เคยใช้คำว่า “นิสิต” มาก่อน
ผู้ที่ตอบกระทู้ในโต๊ะห้องสมุดหลายคน ก็ให้เหตุผลต่าง ๆ กัน บ้างก็ว่าถ้าที่ไหนเก่าก็ใช้คำว่านิสิต บ้างก็ว่ามหาวิทยาลัยแห่งใดอยากใช้คำว่านิสิตก็ต้องขอพระราชทานเอา (ก็นับเป็นเหตุผลที่ตลกเหตุผลหนึ่ง) ส่วนเหตุผลที่ไม่เข้าท่าที่สุดก็เห็นจะเป็นเหตุผลที่ว่า “มหาวิทยาลัยใดที่เคยมีเจ้าฟ้าเข้าเรียน ก็จะเปลี่ยนไปใช้คำว่านิสิต”
อาจจริงอยู่ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเคยทรงศึกษาที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต อักษรศาสตรมหาบัณฑิต และเคยทรงศึกษาระดับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แต่มหาวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้วนั้น ปรากฏใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่เดิมแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเปลี่ยนเอาภายหลัง
อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เคยทรงศึกษาระดับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (จารึกตะวันออก) ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ไม่เห็นจะต้องเปลี่ยนคำว่า “นักศึกษา” เป็น “นิสิต” แม้แต่น้อย
อาจจริงอยู่ที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเคยทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่สถาบันแห่งนี้ก็ใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่นมนานก่อนที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ จะเสด็จเข้าทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดียวกัน
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์